การอยู่อาศัยในชีวิตประจำวัน การใช้น้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญทั้งการอุปโภค บริโภค ทำให้น้ำประปาเข้ามามีบทบาทสำคัญที่ทุกบ้านต้องมี ควบคู่กับระบบไฟฟ้า หลายบ้านพบปัญหาว่าน้ำประปาในพื้นที่ของตนเองนั้นไหลช้าน้ำไม่แรง เมื่อต่อเข้ามาใช้งานในบ้านแล้ว ไม่สามารถแจกจ่ายไปตำแหน่งต่างๆในบ้านได้อย่างเพียงพอ หากทำการสำรวจแล้วไม่ได้เกิดจากการอุดตันของท่อ หรือเส้นทางการส่งน้ำติดขัด ก็อาจมาจากน้ำที่ส่งมามีปริมาณน้อย ประกอบกับท่อประปามีแรงดันของน้ำที่แรงไม่พอ ทำให้เราเจอปัญหาในการใช้น้ำประปา และหากที่พักอาศัยเราเป็นอาคารสูงมากกว่า 2 ชั้น ขึ้นไป หากไม่มีตัวช่วยในการเพิ่มแรงดันน้ำ ก็จะทำให้การใช้น้ำในชั้นบนๆเเกิดปัญหาได้เช่นกัน

เครื่องปั๊มน้ำ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยเพิ่มแรงดันน้ำภายในบ้านให้ไหลได้แรง และสามารถเข้าถึงได้ทุกจุดในบ้าน และเมื่อใช้ควบคู่กับถังเก็บน้ำก็จะสามารถเก็บน้ำไว้ใช้สำรองในกรณีเหตุฉุกเฉินได้อีกด้วย แต่การเลือกใช้เครื่องปั๊มน้ำแต่ละประเภทก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป รวมไปถึงราคาและการใช้งาน วันนี้เราจะพาไปเลือกเครื่องปั๊มน้ำที่เหมาะสมกับแต่ละครอบครัวกันค่ะ

ประเภทของเครื่องปั๊มน้ำ

เครื่องปั๊มน้ำ จัดเป็นอุปกรณ์สำหรับ ช่วยเพิ่มแรงดันในการส่งน้ำหรือถ่ายเทน้ำ จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ช่วยให้น้ำสามารถเดินทางไปได้เร็วขึ้นเพราะมีแรงดันจากปั๊มน้ำที่สร้างขึ้นมาเป็นแรงส่ง ปัจจุบันมีปั๊มน้ำหลากหลายแบบให้เลือกใช้งาน เช่น ปั๊มน้ำระบบไฟฟ้าที่ใช้มอเตอร์ในการทำงาน , ปั้มน้ำที่ใช้เครื่องยนต์ต้องเติมน้ำมันในการใช้งาน โดยทำหน้าที่หมุนส่งกำลังให้ปั๊มน้ำทำงาน ตามบ้านพักอาศัยส่วนใหญ่จะนิยมจะใช้เครื่องปั๊มน้ำแบบไฟฟ้า เพราะติดตั้งง่าย เชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของตัวบ้าน ไม่ยุ่งยากในการใช้งาน มีให้เลือกหลากหลายขนาด พร้อมฟังก์ชันการทำงานที่สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งประเภทของเครื่องปั๊มน้ำทั่วไปที่นิยมใช้กันในที่อยู่อาศัย ได้ 2 ประเภท ดังนี้

1. เครื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติชนิดถังแรงดัน

เครื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติชนิดถังแรงดัน (Automatic water pump with pressure tank) หรือที่ทั่วไปมักเรียกว่า ปั๊มถังกลม จากรูปร่างหน้าตาของตัวปั๊มที่จะอยู่บนฐานวงกลม มีฝาครอบทรงกระบอก เครื่องปั๊มน้ำขนิดนี้ถือเป็นปั๊มในยุคแรกๆ และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในบ้านพักอาศัย โดยลักษณะภายนอกจะ มีถังแรงดันติดอยู่กับระบบมอเตอร์ ปั๊มชนิดนี้ให้แรงดันดี มีราคาถูก สามารถซ่อมแซมอะไหล่หาง่าย และใช้งานได้ค่อนข้างทนยาวนาน 5-10 ปี อาจจะพบปัญหาจากวัสดุภายนอกถังแรงดันผุกร่อนเมื่อใช้งานเป็นระยะเวลานานๆเพราะความดันภายในถังขึ้นลงอยู่ตลอด ประกอบกับสภาพอากาศอีกด้วย แต่ในปัจจุบันก็ได้พัฒนาเปลี่ยนมาเป็นถังแรงดันสแตนเลส ทำให้ไม่ขึ้นสนิมและผุกร่อนได้ง่าย แต่ยังต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้ง เนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่าปั๊มแบบอื่น ต้องวัดระยะพื้นที่ในการติดตั้งให้พอดีกับตัวปั๊ม

หลักการทำงานของหน้าที่ของปั๊มอัตโนมัติชนิดถังแรงดัน คือ จะดูดน้ำเข้ามาพักเก็บเอาไว้ที่ถังเหล็ก หรือถังสแตนเลสที่อยู่ข้างล่างของตัวเครื่อง หรือที่ถังความดัน (Pressure Tank) เพื่อให้น้ำเข้าไปแทนที่อากาศที่อยู่ในถังความดัน โดยจะปล่อยน้ำไว้ที่ประมาณครึ่งถังความดัน เพื่อให้น้ำและอากาศอัดอยู่ร่วมกัน พอเราต้องการใช้น้ำ เปิดก๊อกน้ำ หรือ กดชักโครก น้ำก็จะถูกปล่อยด้วยแรงดันจากตัวเครื่องออกมา ไปยังก็อกน้ำหรืออุปกรณ์ สุขภัณฑ์ต่างๆภายในบ้าน โดยแรงกดดันที่อัดไว้ภายในถังจะทำให้น้ำมีแรงกดดันเยอะขึ้น เนื่องจากน้ำที่เข้าไปอยู่ในถังความดัน จะถูกอากาศที่อยู่ข้างบนของถังบีบอัดต่อลงมาให้น้ำไหลออกแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆส่งน้ำไปถึงปลายทางที่ต้องการ แต่การใช้ปั๊มประเภทนี้ก็ต้องมีข้อระวังเพราะความแรงของแรงดันน้ำอาจจะไม่ค่อยคงที่ เพราะการทำงานของปั๊มน้ำนี้เมื่อมอเตอร์ของเครื่องปั๊มจะเริ่มทำงานก็ต่อเมื่อความดันในถังจะลดลงจนถึงระดับหนึ่ง แล้วถึงจะเริ่มทำการสูบน้ำเข้ามาเพิ่ม ส่งผลให้แรงดันน้ำจะมีไหลอ่อน ไหลแรงสลับกันไปในบางครั้งได้เช่นกัน

ปั๊มอัตโนมัติชนิดถังแรงดัน จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในที่อยู่อาศัย บ้าน อาคาร ที่ต่อน้ำจากท่อน้ำประปา เข้ามาผ่านถังเก็บน้ำที่อยู่ต่ำ โดยการดูดเข้ามาโดยตรง การที่ได้พักน้ำในถังความดันนั้นจะช่วยแยกชั้นของน้ำและอากาศที่ปะปนมาทำให้ เมื่อเปิดก็อกน้ำ น้ำจะเดินต่อเนื่องไม่กระตุกหรือไม่มีอาการน้ำขาดท่อ และทำให้ไม่ต้องเสียเวลามาไล่น้ำออกจากถังเมื่อเวลาผ่านไป

ข้อดี ของเครื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติชนิดถังแรงดัน

  • เหมาะสำหรับที่อยู่อาศัย บ้าน อาคารพักอาศัย
  • ราคาถูกกว่าปั๊มน้ำแรงดันคงที่
  • ค่าบำรุงรักษาไม่แพง ซ่อมแซมหาอะไหล่ง่าย
  • ถังแรงดันสแตนเลส ที่แข็งแรงและทนต่อสภาพอากาศกว่า

ข้อเสีย ของเครื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติชนิดถังแรงดัน

  • ใช้พื้นที่ในการติดตั้ง เนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่าปั๊มแบบอื่น
  • ถังแรงดันเหล็ก อาจรั่วซึม และผุกร่อนได้ง่าย
  • ถังแรงดันสแตนเลส อาจรั่วไหลตามรอยตะเข็บที่เชื่อมตัวถังได้
  • ความแรงของแรงดันน้ำไม่ค่อยจะคงที่ ในบางครั้ง
  • มีเสียงดังในขณะเครื่องทำงาน

2. เครื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติแรงดันคงที่

เครื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติแรงดันคงที่ (Constant Pressure Water Pump) เป็นการพัฒนามาจากเครื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติชนิดถังแรงดัน ให้สามารถทำงานได้สะดวกและตอบโจทย์ในการใช้งานมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เห็นได้ชัดเริ่มจากเป็นทรงสี่เหลี่ยม ทำให้หลายคนเรียกปั๊มน้ำชนิดนี้ว่า ปั๊มถังเหลี่ยม มีขนาดของตัวเครื่องที่เล็กลง เนื่องจากไม่มีถังแรงดันติดไว้กับตัวเครื่องเหมือนกับเครื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติชนิดถังแรงดัน จึงช่วยประหยัดพื้นที่ในการใช้งานได้มากขึ้น และไม่ต้องกังวลเรื่องความดันรั่ว ทำให้ถังขึ้นสนิม หรือรั่วตามขอบตะเข็บตามรอยเชื่อมรอบตัวถัง

สิ่งสำคัญคือการใช้งานเพราะจะมีระบบควบคุมน้ำแบบอัตโนมัติด้วยสวิตช์เพื่อควบคุมการใช้น้ำให้คงที่มากขึ้นแตกต่างจากปั๊มรุ่นเก่า สามารถรักษาแรงดันน้ำให้แรงเท่าๆกัน แม้จะเปิดใช้งานหลายก๊อกพร้อมกัน อีกทั้งเสียงในขณะทำงานจะเบากว่าเครื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติชนิดถังแรงดัน แต่ถึงแม้จะให้แรงดันน้ำใช้งานได้ต่อเนื่อง แต่ในการใช้งานของเครื่องบางรุ่นพบว่าน้ำไหลได้ต่อเนื่องจริงแต่แรงดันน้ำจะไม่แรงเหมือนการใช้ปั๊มรุ่นก่อนๆ และต้องระวังตัวเครื่องทำงานหนักมากจนเกิดการสะสมความร้อนขึ้น หากน้ำที่ไหลเข้ามาในเครื่องปั๊มมีอากาศปะปนอยู่มาก

หลักการทำงานของเครื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติแรงดันคงที่ ยังคงอาศัยการใช้มอเตอร์ในการดูดน้ำเข้าไปภายในตัวเครื่อง ที่แตกต่างคือจะไม่มีจะไม่มีถังความดันด้านล่าง แล้วใช้กระปุกโลหะแบบพิเศษที่ข้างในบรรจุ ก๊าซไนโตรเจน (N2) เรียกว่า แท้งค์ไนโตรเจน (Nitrogen Tank) ซึ่งก๊าซไนโตรเจน จะมีคุณสมบัติ ทนต่อความร้อนได้สูงและแรงดัน โดยจะถูกอัดเข้าไปในกระบวนการผลิต และมีชั้นแผ่นยาง ไดอะเฟรม (Diaphragm) ซึ่งมีความยืดหยุ่นและทนทานต่อความร้อนกั้นเอาไว้ตรงกลางระหว่าง น้ำ กับ ไนโตรเจนที่อยู่ภายในตัวถัง และทำงานควบคุมแรงดันโดยใช้อุปกรณ์ควบคุมแรงดัน(Pressure Stabilized Unit) ที่จะสร้างแรงดันให้ส่งผ่านน้ำได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง จากขั้นตอนนี้จึงไม่ต้องรอให้น้ำเต็มถังแรงดัน สามารถส่งแรงดันให้น้ำไหลออกได้ทันทีเมื่อเปิดน้ำใช้งาน และไม่ทำให้แรงดันตกหากต้องเปิดใช้น้ำพร้อมกันหลายตำแหน่งในบ้าน  ที่สำคัญคือไม่ต้องดูแลตัวเครื่อง ไม่ต้องเติมก๊าซไนโตรเจน ตลอดอายุการใช้งาน สามารถใช้จนเครื่องหมดอายุการใช้งานตามระยะเวลาได้เลย

ข้อดี ของเครื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติแรงดันคงที่

  • มีแรงดันน้ำคงที่ เปิดใช้น้ำหลายจุดพร้อมกันได้
  • ขนาดเล็ก ประหยัดพื้นที่ในการใช้งาน
  • บำรุงรักษาง่าย ไม่ต้องเติมก๊าซ ใช้งานได้ต่อเนื่อง
  • ติดตั้งง่าย ใช้ไฟฟ้าในการทำงาน
  • ความดันไม่รั่ว เพราะไม่มีถังแรงดันแล้ว

ข้อเสีย ของเครื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติแรงดันคงที่

  • ราคาแพงกว่าปั๊มน้ำแรงดันอัตโนมัติชนิดถังแรงดัน
  • ค่าอะไหล่ ค่าบำรุงรักษาสูงกว่า
  • ต้องระวังเรื่องความร้อนสะสมในเครื่อง
  • เติมก๊าซไม่ได้ ถ้าก๊าซหมดเท่ากับหมดอายุการใช้งาน

เครื่องปั๊มอัตโนมัติชนิดแรงดันคงที่ Inverter

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติแรงดันคงที่ โดยการเพิ่มระบบ Inverter เป็นระบบที่ช่วยให้ประหยัดไฟฟ้าจากการใช้มอเตอร์ ที่นิยมใช้และเราเห็นได้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆในบ้านพักอาศัย เช่น เครื่องปรับอากาศ พัดลม เครื่องซักผ้า รวมไปถึงเครื่องปั๊มน้ำ ก็สามารถนำระบบนี้มาใช้งานร่วมกันได้ เพราะสามารถประหยัดไฟฟ้าลงกว่าปกติประมาณ 30% เพราะระบบอินเวอร์เตอร์จะควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้า และเปลี่ยนความเร็วรอบของมอเตอร์ให้เหมาะสมกับการทำงานจึงทำให้กินไฟน้อยลงตามสัดส่วนในการใช้งานจริง โดยสำหรับเครื่องปั๊มน้ำจะทำให้กรณีเมื่อเราเปิดใช้งานน้ำน้อย ก็จะกินไฟน้อยตามสัดส่วน และเมื่อเปิดน้ำหลายก๊อกก็จะกินไฟสูงขึ้น ในขณะที่แรงดันน้ำก็ยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งให้เสียงที่เบากว่าเครื่องปั๊มน้ำโนมัติชนิดถังแรงดัน

เลือกใช้งานแบบไหน ให้เหมาะกับแต่ละครอบครัว

การเลือกขนาดของเครื่องปั๊มอัตโนมัติควรจะเลือกให้มีขนาดที่เหมาะสมกับการใช้งาน เพราะจะส่งผลกับการทำงานให้เครื่องสามารถส่งแรงดันน้ำแจกจ่ายไปตามตำแหน่งต่างๆภายในบ้านได้อย่างทั่วถึง และช่วยไม่ให้ตัวเครื่องทำงานหนักจนเกินไป จนทำให้เครื่องเสียได้ การเลือกที่ดีควรคำนึงถึงมีความสัมพันธ์กับขนาดพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน จำนวนสมาชิกตำแหน่งที่ต้องใช้น้ำ และปริมาณการใช้น้ำของแต่ละบ้าน ยกตัวอย่างเช่น

  • บ้าน 1 ชั้น สมาชิกในครอบครัว 1-3 คน เลือกใช้ เครื่องปั๊มน้ำขนาด 150 วัตต์
  • บ้าน 1-2 ชั้น สมาชิกในครอบครัว 2-3 คน เลือกใช้ เครื่องปั๊มน้ำขนาด 150-200 วัตต์
  • บ้าน 2 ชั้น สมาชิกในครอบครัว 2-4 คน เลือกใช้ เครื่องปั๊มน้ำขนาด 200-250 วัตต์
  • บ้าน 3 ชั้น สมาชิกในครอบครัว 2-4 คน เลือกใช้ เครื่องปั๊มน้ำขนาด 300-250 วัตต์
  • บ้าน 4 ชั้น เลือกใช้ เครื่องปั๊มน้ำขนาด 400 วัตต์ ขึ้นไป เพื่อให้แรงดันน้ำส่งไปถึงตำแหน่งที่ต้องการใช้น้ำภายในบ้านได้อย่างทั่วถึง

วิธีติดตั้งและเลือกตำแหน่งเครื่องปั๊มน้ำให้เหมาะสมกับการใช้งาน

  • เลือกพื้นที่ ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่เป็นมุมอับที่เข้าถึงได้ยาก
  • ควรเลือกวางในพื้นที่ร่ม ไม่ตากแดด ตากฝน จนมากเกินไป เพื่อยืดอายุการใช้งานอุปกรณ์
  • ติดตั้งให้ห่างจากกำแพง ,รั้วบ้าน ประมาณ  15-30 cm. มีระยะให้ตัวเครื่องระบายความร้อนได้
  • ควรทำฐานรองเครื่องปั๊มน้ำเพื่อให้ตัวปั๊มยกสูงขึ้นจากพื้น เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง
  • หากติดตั้งภายนอกอาคาร ปลั๊กไฟควรมีฝาครอปเพื่อกันน้ำ กันฝน ป้องกันไฟฟ้าช็อต
  • ตัวเครื่องปั๊มควรมีฝาครอบตัวปั๊มอยู่เสมอ ป้องกันเพื่อสัตว์ต่างๆ เศษกิ่งไม้ใบไม้ ตกเข้าไปภายในตัวเครื่อง
  • เลือกใช้ท่อตามขนาดที่เครื่องระบุไว้ เพื่อให้ทำงานได้เต็มที่
  • ควรมีถังเก็บน้ำแล้วต่อเครื่องปั๊มออกจากถัง ไม่ควรต่อตรงกับท่อประปา
  • ควรเดินท่อของระบบน้ำในบ้าน แบบตรง (Bypass) เข้าบ้าน โดยไม่ผ่านปั๊มน้ำไว้ด้วย กรณีไฟฟ้าดับก็ยังสามารถใช้น้ำจากประปาโดยตรงได้

วิธีการเลือกซื้อและราคา

ปัจจุบันเครื่องปั๊มน้ำสามารถหาซื้อได้ง่าย ทั้งร้านขายวัสดุก่อสร้างบ้าน และในร้านเครื่องปั๊มน้ำโดยเฉพาะ ซึ่งก็มีหลายหลายแบรนด์ให้เลือก ฟังก์ชันต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามาให้ใช้งานได้สะดวกมาขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ราคาสูงตามไปด้วย เราลองมาดูราคาของเครื่องปั๊มน้ำแต่ละประเภทกัน

เครื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติชนิดถังแรงดัน จะมีขนาดให้เลือกใช้ตามกำลังไฟวัตต์ Watt มีขนาดให้เลือกตั้งแต่ 100 – 400 วัตต์ สามารถแบ่งเป็นช่วงราคาได้ ดังนี้

  • กำลังไฟ 100 – 150 วัตต์ ราคาประมาณ 4,800 – 5,500 บาท
  • กำลังไฟ 200 – 250 วัตต์ ราคาประมาณ 6,500 – 10,000 บาท
  • กำลังไฟ 300 – 350 วัตต์ ราคาประมาณ 7,500 – 11,000 บาท
  • กำลังไฟ 400 วัตต์ ราคาประมาณ 12,000 บาท

เครื่องปั๊มน้ำอัตโนมัติแรงดันคงที่ จะมีขนาดให้เลือกใช้ตามกำลังไฟวัตต์ Watt มีขนาดให้เลือกตั้งแต่ 150 – 1,000 วัตต์ ซึ่งถ้าใช้ในบ้านพักอาศัยทั่วไปส่วนมากจะใช้กันอยู่สูงสุดที่ 400 วัตต์ แต่ในกรณีเป็นอาคารพักอาศัยที่มีจำนวนชั้นมากขึ้นอาจเลือกใช้ได้ถึง 800 วัตต์ สามารถแบ่งเป็นช่วงราคาได้ ดังนี้

  • กำลังไฟ 150 – 200 วัตต์ ราคาประมาณ 5,000 – 9,500 บาท
  • กำลังไฟ 250 – 300 วัตต์ ราคาประมาณ 7,000 – 10,000 บาท
  • กำลังไฟ 350 – 400 วัตต์ ราคาประมาณ 9,000 – 15,000 บาท
  • กำลังไฟ 800 วัตต์ ขึ้นไป ราคาประมาณ 18,000 – 30,000 บาท

จบแล้วค่ะ กับความรู้เรื่อง เครื่องปั๊มน้ำ และ Tips ในการเลือกซื้อเพื่อที่จะได้เครื่องที่เหมาะกับการใช้งาน ผู้อ่านคนไหนสนใจเรื่องอะไรเพิ่มเติม ลอง Comment บอกกันมา หรือให้คำแนะนำได้นะคะ