กำลังเข้าสู่หน้าร้อนแบบเต็มรูปแบบแล้วนะครับสำหรับปี 2021 นี้ ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเริ่มจะได้รับผลกระทบกันบ้างแล้วล่ะ ทั้งอากาศที่ร้อนจนเริ่มจะไม่สบายตัว เดินออกมาทานข้าวกันข้างนอกนิดเดียวก็เหงื่อชุ่มกันแล้ว ไปจนถึงค่าไฟที่เริ่มสูงขึ้นตามการใช้งานของเครื่องปรับอากาศ…

วันนี้ผมรวบรวมเทคนิคสำหรับเตรียมรับมือกับหน้าร้อนมาให้ทุกคนได้ชมกันครับ สำหรับใครที่กำลังจะสร้างบ้านใหม่หรือกำลังมีแพลนจะปรับปรุงบ้าน ก็มีเทคนิคในการปรับเปลี่ยนวัสดุในส่วนต่าง ๆ ของตัวบ้าน พร้อมราคาเริ่มต้นของวัสดุในแต่ละส่วนให้พอเห็นภาพกันคร่าวๆ หรือสำหรับใครที่ไม่ได้มีแพลนถึงขั้นจะต้องจ้างช่างมาปรับเปลี่ยนอะไรในตัวบ้าน ก็มีวิธีง่าย ๆ ที่สามารถทำเองได้ที่บ้านรวบรวมมาให้อ่านกันด้วยครับ พร้อมจะรับมือกับอากาศร้อน ๆ กันแล้วรึยัง ตามผมมาเลยครับ…

หลังคา

สิ่งแรกที่เราต้องพูดถึงเลยนั่นก็คือหลังคา เป็นทำหน้าที่เป็นปราการด่านแรกที่ต้องเจอกับแสงแดดและความร้อน ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี จะเป็นการลดความร้อนเข้าสู่ภายในตัวบ้านด้วยการติดตั้งฉนวนกันความร้อนไว้ใต้แผ่นหลังคาหรือใต้แปก็ได้ หรืออีกวิธีคือการติดสปริงเกอร์พรมน้ำบนคาเพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากหลังคาครับ ถ้าจะให้ดีก็ทำควบคู่กันไปเลยก็จะช่วยกันทำหน้าที่ในการลดความร้อนเข้าสู่พื้นที่ภายในบ้านได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

สำหรับราคาของฉนวนกันความร้อนใต้หลังคาจะมีหลากหลายครับ ทั้งขนาดของแผ่นและความหนา รวมไปถึงแต่ละแหล่งที่มาอีกด้วย แต่ราคาที่เห็นได้ง่าย ๆ ก็มีให้เลือกตั้งแต่หลัก 300 กว่าบาท ขนาด 600 มม.ความยาว : 4000 มม.ความหนา : 75 มม. เป็นต้นไปเลย ส่วนการติดตั้งสปริงเกอร์พรมน้ำบนหลังคาก็มีให้เลือกหลายแบบเช่นกัน ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ DIY ที่มีทำกันเองได้ก็อยู่ในงบระดับไม่กี่ร้อยบาทครับ

ฝ้าชายคา

แนะนำให้ใช้ฝ้าชายคาแบบมีรูระบายอากาศครับ สำหรับระบายความร้อนใต้หลังคา และรับลมได้ด้วย ทำให้เกิดการ Ventilation ของลม ไม่สะสมความร้อนให้กับพื้นที่ใต้หลังคา ซึ่งจะไปมีผลกับห้องต่างๆภายในตัวบ้านอีกที

ฝ้าชายคาส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดมาตรฐานจะอยู่ที่ 120 x 60 ซม. ซึ่งจะมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณแผ่นละ 40-47 บาท ครับ แล้วแต่ลาย ยี่ห้อ และคุณภาพวัสดุ

ฝ้าภายใน

ควรเลือกฝ้าที่มีค่าการนำความร้อนต่ำ และมีความยืดหยุ่น แข็งแรง ทนน้ำและความชื้นได้ดี เป็นฝ้าแบบแผ่นยิปซัมจะช่วยระบายความร้อนภายในห้องได้ บางแบบก็ติดแผ่นสะท้อนความร้อน หรือฉนวนฟอยด์มาด้วยเลย หรือถ้าแบบไม่ติดก็ให้ใช้ร่วมกับฉนวนกันความร้อน ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยให้ความร้อนเข้าสู่ห้องได้น้อยลง ลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศลงได้ด้วย พูดง่ายๆก็คือประหยัดค่าไฟได้นั่นเองครับ

สำหรับฝ้าส่วนใหญ่จะมีขนาดมาตรฐานอยู่ที่ประมาณ 120 x 240 cm. หนา 9 หรือ 12 มม. แล้วแต่แบบ และมีแบบขอบเรียบและขอบลาดให้เลือก ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 150 บาท ต่อแผ่น ขึ้นไปครับ ส่วนถ้าฝ้าแบบไม่มีฉนวนกันความร้อนติดตั้งมาให้ เราต้องต้องหาฉนวนกันความร้อนมาใช้กันเอง ซึ่งราคาจะค่อนข้างหลากหลาย เพราะมีหลายขนาด หลายไซส์ รวมถึงความหนาก็แตกต่างกัน ซึ่งถ้าจะเอาให้เห็นภาพยกตัวอย่างราคาที่เห็นง่ายๆ จะเป็นแบบ กว้าง 90 ซม. ยาว 5 เมตร จะเริ่มต้นที่ประมาณ 150 บาท นะครับ

ผนัง

สำหรับผนังก็ให้เลือกใช้วัสดุที่มีค่าต้านทานความร้อนสูงมาทำผนัง อย่างเช่น “อิฐมวลเบา” เพราะอิฐมวลเบาถือว่าเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดีกว่าอิฐมอญหลายเท่า เนื่องจากอิฐมวลเบามีลักษณะเป็นฟองอากาศ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนได้เป็นอย่างดี ช่วยป้องกันความร้อนจากภายนอก และรักษาความเย็นภายในได้ให้คงอยู่ดีกว่า จึงสามารถลดภาระของเครื่องปรับอากาศ ช่วยประหยัดค่าไฟได้เยอะเลย แถมยังแข็งแรง ติดตั้งไว รวมถึงสามารถกันเสียงจากภายนอก และเก็บเสียงจากภายในห้องได้ดีด้วยครับ นอกจากนี้ถ้าเป็นส่วนของผนังภายนอกตัวบ้าน การทาสีบ้านด้วยสีโทนอ่อนก็ช่วยลดการดูดความร้อนได้ด้วยเช่นกันครับ หรืออีกวิธีคือการติดตั้งฉนวนที่ผนังเพื่อกันความร้อนครับ ราคา

สำหรับราคาของอิฐมวลเบานั้นมีหลากหลาย เพราะมีหลายขนาด รวมถึงต้องคิดว่าช่างที่จะก่อและฉาบด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่งานว่างานเล็กหรืองานใหญ่และต้องให้ผู้รับเหมาแต่ละเจ้าประเมินอีกที ดังนั้นราคาจึงจะค่อนข้างหลากหลายเลยครับ ส่วนตัวผมเองที่เคยเจอมา ราคาวัสดุและค่าแรง เมื่อเทียบราคาวัสดุบวกค่าแรงต่อตารางเมตร ใช้อิฐมวลเบาหนา 10 เซนติเมตร ราคาเริ่มต้นเฉลี่ยประมาณ 360-400 บาท/ตารางเมตร นะครับ ใครที่มีข้อมูลหรือตัวเลขอื่นๆก็เข้ามาแชร์กันได้นะครับ

ประตูและหน้าต่างกระจก

ประตูและหน้าต่างกระจกเป็นช่องทางในการรับความร้อน เพราะเป็นช่องแสงของบ้าน แต่ก็ไม่สามารถปฎิเสธได้ว่าเราต้องการแสงจากภายนอกเข้าสู่ตัวบ้านเหมือนกัน เพราะช่วยให้บ้านสว่าง ดูโปร่งโล่งและช่วยประหยัดไฟในเวลากลางวันด้วย แต่จะทำอย่างไรให้ได้แสงแต่รับความร้อนเข้าภายในตัวบ้านให้น้อยที่สุด… ทำได้ง่ายๆครับ โดยการติดตั้งแผ่นฟิล์มกรองแสงที่กระจกของประตูและหน้าต่างของบ้านเรา เพื่อช่วยลดปริมาณความร้อนที่จะเข้ามาสู่ภายในบ้าน หรือเลือกใช้กระจกที่ทำการย้อมสี และอีกอย่างคือควรติดม่านโปร่งเพิ่มเติมเพื่อช่วยบังแสงอีกหนึ่งชั้นด้วย วิธีนี้ก็จะช่วยให้สามารถได้รับแสงแต่ลดความร้อนลงเช่นกันครับ

สำหรับราคาของฟิล์มกระจก ถ้าเป็นฟิล์มดำธรรมดา ราคาจะถูกหน่อย เริ่มต้นที่ประมาณตารางเมตรละ 500-700 บาท ถ้าเป็นฟิล์มปรอท ราคาจะสูงขึ้นเป็นประมาณตารางเมตรละ 700 – 1,800 บาท ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการกันความร้อนและแบรนด์ ส่วนถ้าเป็นม่านโปร่งราคาค่อนข้างหลากหลายเหมือนกันครับ มีตั้งแต่หลักร้อยต้นๆ ไปจนถึงเป็นพัน ขึ้นอยู่กับชนิดผ้าและแบรนด์ครับผม

พื้น

พื้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกห้องครับ ซึ่งคุณสมบัติของวัสดุในการช่วยลดความร้อนให้แก่ตัวบ้านของพื้นก็คือการเก็บสะสมความเย็น ซึ่งจะเป็นวัสดุประเภทกระเบื้อง หรือหินอ่อน เพราะมีคุณสมบัติเก็บสะสมความเย็น และคายความร้อนได้ดี ทำให้เวลาที่เราเดินในตัวบ้านก็จะรู้สึกเย็นเท้า ไม่ร้อน และช่วยลดอุณหภูมิในแต่ละห้องได้เป็นอย่างดี

สำหรับวัสดุประเภทกระเบื้องจะมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณ ตร.ม. ละ ประมาณ 100 บาท สำหรับกระเบื้องเซรามิค ถ้าเป็นกระเบื้องแกรนิตโต้จะราคาเริ่มต้นประมาณ ตร.ม. ละ 200 บาท ส่วนถ้าเป็นวัสดุประเภทหิน จะเริ่มที่หินอ่อนจากจีนจะมีช่วงราคาประมาณ 1,200 – 4,000 บาท/ตร.ม. หากนำเข้าจาก ยุโรป มีตั้งแต่ประมาณ 3,000 บาท/ตร.ม. ขึ้นไป ถ้าเป็นหินแกรนิตก็จะมีราคาประมาณ 1,400 บาท/ตร.ม. ขึ้นไป ส่วนถ้าเป็นหินเทียมจะเริ่มต้น 3,500 – 4,000 บาท/ตร.ม. เป็นต้นไป และแพงที่สุดจะเป็นหิน Quatz ที่จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 5,500 บาท/ตร.ม. เป็นต้นไป ครับ

รั้วระแนงและกันสาด

เป็นสิ่งที่ช่วยผนังของตัวบ้านให้ไม่ต้องรับแสงแดดโดยตรง ทำหน้าที่เหมือนเป็น “เกราะป้องกันความร้อน” ให้กับตัวบ้านครับ ซึ่งจะมีหลากหลายรูปแบบแล้วแต่สไตล์ในการออกแบบเลย วัสดุที่นิยมก็มีหลากหลายชนิดครับ

  • แนวระแนงไม้ : น้ำหนักไม่เยอะมาก แต่สีของไม้จะซีดและจางลงตามอายุการใช้งาน ราคาจะมีหลากหลายขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพจะมีราคาตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไป สำหรับ ไม้แคมปัสอบแห้ง ขนาด 90 x 1500 x 8 มม. แพ็ค 5 ชิ้น เป็นต้นครับ
  • แนวระแนงเหล็ก : ส่วนใหญ่ขึ้นรูปสำเร็จมาแล้ว มีความแข็งแรงคงทนสูง สีไม่เปลี่ยน ติดตั้งง่าย แต่มีน้ำหนักค่อนข้างเยอะ และข้อเสียคือเป็นสนิมได้ บางคนจึงเลือกใช้อลูมิเนียมแทน ซึ่งจะมีราคาสูงกว่าเหล็กเยอะเลยครับ
  • แผ่นโพลีคาร์บอเนต : มีน้ำหนักเบา แข็งแรง ดัดโค้งได้ มีหลากหลายสีและลาย ทนความฝนทนแดด แต่สีอาจจะซีดลงได้ตามอายุการใช้งาน เป็นรอยขูดขีดได้ง่าย ส่วนราคาสำหรับขนาดประมาณ  1.22 x 2.44 เมตร จะอยู่ที่ประมาณ 600 บาทขึ้นไปครับ

อีกตัวเลือกนึงของการช่วยผนังภายนอกตัวบ้าน เราสามารถทำสวนแนวตั้งเพิ่มได้นะครับ จะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดทอนความร้อนให้ไม่ส่องมายังผนังบ้านโดยตรง โดยต้นไม้จากการทำสวนแนวตั้งจะดูดซับความร้อนจากแดดที่ส่องเข้ามา ก่อนจะถึงแนวกำแพงบ้าน อีกทั้งเรายังได้พื้นที่สีเขียวเพิ่มภายในบริเวณบ้าน โดยไม่ต้องเปลืองพื้นที่จัดสวนเหมือนการจัดสวนปกติ บ้านที่มีบริเวณไม่มาก เช่น บ้านทาวน์โฮม บ้านแฝด ก็สามารถทำได้ เพราะใช้พื้นที่ในแนวตั้งแทน ทำให้บรรยากาศภายบริเวณในบ้านดูร่มรื่นขึ้น สร้างมุมมองและวิวโดยรอบตัวบ้านได้อีกด้วย พวกแนวระแนงสำหรับแขวนต้นไม้แนวตั้งจะมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณ 200 บาทขึ้นไปครับ

อ่านบทความเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้ที่ จัดสวนในบ้านและคอนโด พื้นที่น้อยก็ทำได้

สิ่งอื่นๆที่สามารถทำเองได้ง่ายๆ

นอกจากการเปลี่ยนวัสดุในแต่ละส่วนของตัวบ้านแล้ว สำหรับใครที่ไม่ได้มีแผนจะจ้างช่างมาปรับปรุงหรือสร้างบ้านใหม่เร็ว ๆ นี้ ผมก็มีวิธีง่าย ๆ ที่สามารถทำกันได้เองที่บ้านมาฝากกันนะครับ ลองไปชมกัน

เปลี่ยนประเภทหลอดไฟ

เป็นวิธีแรกที่ปรับเปลี่ยนได้ง่ายด้วยตัวเองเลยครับ โดยปกติแล้วหลอดไฟส่องสว่างภายในบ้านนั้นมีหลายแบบ ซึ่งมีผลกับอุณหภูมิภายในบ้านเหมือนกัน โดยเฉพาะกับหลอดไส้ ซึ่งเป็นแบบที่ให้แสงสว่างสวยงาม แต่แลกมากับความร้อนที่ปล่อยออกมาโดยรอบที่ค่อนข้างสูง แถมยังกินไฟกว่าหลอดประเภทอื่นอีกด้วย ซึ่งเมื่อเทียบกับหลอดตะเกียบ หรือหลอดไฟ LED ที่ให้แสงว่างที่คง และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า แถมยังช่วยประหยัดพลังงาน และลดอุณหภูมิในห้องได้ดีกว่าหลอดไส้เยอะเลย

จัดของให้ไม่บังช่องลม

อีกวิธีง่ายๆในการระบายความร้อนออกจากตัวบ้าน คือการทำให้เกิดลมหมุนเวียนภายในตัวบ้านครับ สามารถทำได้ง่ายๆด้วยการจัดเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ภายในบ้าน เช่น ตู้โชว์ของ ตู้เสื้อผ้า หรือฉากกั้นลอยตัวต่างๆ ที่ปัจจุบันอาจจะบังหน้าต่าง หรือบังช่องทางไหลเวียนของลมภายในบ้านอยู่ จึงควรจัดเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ให้เข้าที่เข้าทางหรือชิดผนังมากยิ่งขึ้นนะครับ เพราะอย่าลืมว่า “ลมจะเข้ามา ก็ต่อเมื่อมีช่องให้ลมออก” ดังนั้นหน้าต่าง 2 ฝั่งภายในบ้านควรจะโล่งเพื่อให้ลมไหลเวียนได้สะดวกครับ

เพิ่มเติมเป็นความรู้นะครับ ตามภูมิประเทศของเราแล้วลมธรรมชาติของประเทศไทยจะมาทางทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 9 เดือน ส่วนทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 3 เดือน สำหรับช่องเปิดของตัวบ้านเดิมที่สร้างไว้อยู่แล้วคงปรับยากหน่อย แต่ถ้าใครที่สร้างใหม่ หรือมีการปรับปรุงก็แนะนำให้เปิดช่องเปิดในทิศดังกว่าไว้สำหรับให้ผมหมุนเวียนภายในตัวบ้านได้ดีขึ้นนะครับ

ตำแหน่งการติดตั้งพัดลม

ถ้าจัดบ้านให้โล่งแล้ว แต่ลมยังเข้ามาน้อยอยู่ ก็ให้ติดตั้งพัดลมเพื่อให้เกิดลมไหลเวียนภายในบ้านมากยิ่งขึ้นครับ โดยการติดตั้งพัดลมก็จะมีทิศที่เหมาะสมกับการกระจายลมได้ดีอยู่เหมือนกัน อย่างแรกเลยคือ “พัดลมเพดาน” ครับ จะให้รูปแบบของลมที่กระจายออกเป็นวงกว้าง และช่วยระบายความร้อนออกทางหน้าต่างได้เป็นอย่างดี เป็นตำแหน่งที่ช่วยระบายความร้อนได้ดีและรวดเร็วที่สุดเลย หรือถ้าบ้านไหนไม่มีพัดลมเพดาน ก็สามารถใช้เป็นพัดลมตั้งพื้นหรือพัดลมแขวนผนังให้อยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับช่องเปิดอย่าง ประตู หรือหน้าต่าง ก็จะช่วยให้ระบายลมร้อนออกทางภายนอกได้ง่ายยิ่งขึ้นครับ

ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา

สำหรับสายปลูกต้นไม้น่าจะเห็นผลกับวิธีนี้กันมาอยู่แล้วครับ นั่นก็คือการทำสวนภายนอกตัวบ้าน เพื่อให้ร่มเงากับตัวบ้าน ลดความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้านได้ดียิ่งขึ้น แถมยังเป็นการแต่งบ้านและช่วยกรองฝุ่นเข้าสู่ตัวบ้านได้อีกด้วย ไม่ว่าจะปลูกไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ในสวนข้างตัวบ้าน เพื่อให้ร่มเงาสำหรับป้องกันแสงแดดกระทบกับผนังและหน้าต่างของตัวบ้าน โดยต้นไม้ โดยต้นไม้ที่เหมาะจะปลูกเพื่อให้ร่มเงาต้องคำนึงถึงรากที่จะชอนไชให้บ้านร้าวเสียหายได้ด้วย โดยเฉพาะบ้านที่มีพื้นที่รอบบ้านน้อย (2-4 เมตร) ที่มักจะมีปัญหารากไม้ที่ปลูกใกล้บ้านทำให้บ้านร้าวเสียหาย โดยพวกต้นไม้ที่สามารถให้ร่มเงาได้และรากไม่ทำลายโครงสร้างบ้าน ก็เช่น ต้นแคนา ต้นตีนเป็ดน้ำ ต้นหูหนู ต้นรวงผึ้ง ต้นไผ่เลี้ยง เป็นต้นครับ

นอกจากนั้นก็สามารถทำแนวระแนงไม้สำหรับแขวนกระถาง หรือจะปลูกในกระถางไปวางที่บริเวณระเบียงบ้านได้นะครับ จะยกตัวอย่างพวกต้นที่สูงประมาณ 2-3 เมตร ใช้กระถางขนาดประมาณ 30-50 ซม. เช่น คอร์เดีย แก้วมุกดา พิกุล แสงจันทร์ จำปี เป็นต้นครับ

สุดท้ายนี้ก็หวังว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์และความรู้เพื่อนำไปปรับใช้รับมือความร้อนกันไม่มากก็น้อยนะครับ หรือใครที่มีไอเดียและวิธีคลายร้อนให้บ้านก็สามารถเข้ามาแนะนำและแบ่งปันกันได้นะครับ หากมีข้อผิดพลาดประการใด ผมขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ