ถ้าพูดถึงผนังคอนกรีตสำเร็จรูป หรือผนัง Precast ผมเชื่อว่าในสมัยนี้หลายๆคนก็น่าจะรู้จักและคุ้นเคยกันดีมากขึ้นนะครับ เพราะระบบการก่อสร้างนี้ก็ได้เข้ามามีบทบาท ในแวดวงอุตสาหกรรมการก่อสร้างของเมืองไทยมามากกว่า 10 ปีแล้ว

แต่ในสมัยที่ระบบก่อสร้างนี้ได้เข้ามาใหม่ๆในตอนนั้น ก็อาจสร้างภาพจำต่างๆที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีต่อผนัง Precast สักเท่าไหร่ และหลายๆคนก็ยังมีความเข้าใจผิดมาตลอดว่า Precast จะต้องเป็นแบบนั้นหรือมีข้อเสียแบบนี้

แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก จึงทำให้ปัญหาต่างๆที่เราเคยเจอหรือได้ยินมาลดลงไปเยอะมากๆ ซึ่งระบบ Precast เวอร์ชั่นปัจจุบันในปี 2024 จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ..วันนี้ Think of Living จะเล่าให้ฟังครับ

ผนัง Precast คืออะไร?

ตามชื่อเลยครับคือ Pre = ก่อน / Cast = หล่อ รวมกันก็คือ เป็นระบบก่อสร้างที่หล่อผนังสำเร็จรูปมาก่อนจากโรงงาน แล้วค่อยยกมาประกอบที่กันหน้างาน ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการทำงานของช่างลงได้เยอะมาก ทำให้สามารถก่อสร้างบ้านได้รวดเร็วขึ้น โดยภายในก็จะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) จึงมีความแข็งแรงทนทานมาก และสามารถรับน้ำหนักได้ดี

ข้อดีของผนังสำเร็จรูป (Precast) :

  1. มีความแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ
  2. สามารถป้องกันเสียงและความร้อนได้ดี
  3. ไม่มีเหลี่ยมมุมของเสา จัดวางเฟอร์นิเจอร์ได้ง่าย
  4. ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องผนังแตกร้าวในอนาคต
  5. ลดระยะเวลาการทำงาน สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว

ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบของผนัง Precast (ในสมัยก่อน-ปัจจุบัน)

คือผมต้องเท้าความถึงสมัยเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนที่ผนัง Precast ได้ถูกนำเข้ามาใช้ในเมืองไทยช่วงแรกๆ ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่สำหรับบ้านเรามาก เพราะเราเคยใช้แต่การก่ออิฐฉาบปูนมาตลอดกันเป็นร้อยๆปี แน่นอนว่าความรู้ของทุกคนก็เริ่มจากศูนย์ (0) เหมือนกัน

ซึ่งอย่าว่าแต่ผู้บริโภคอย่างเราเลยครับ แม้แต่วิศวกร ช่างที่อยู่หน้างาน และผู้ผลิตเองก็ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่มาก บวกกับวัสดุและเทคโนโลยีสมัยนั้นที่ยังไม่เจริญเท่าตอนนี้ เลยทำให้งานผนัง Precast ค่อนข้างยังมีปัญหาและมีอุปสรรคหลายอย่างเหมือนที่เราเคยทราบกัน ได้แก่

  1. ปัญหาการรั่วซึมบริเวณรอยต่อผนัง
  2. ปัญหาการใช้วัสดุไม่ตรงสเปค
  3. ปัญหาความรู้และฝีมือของช่าง
  4. ปัญหาสร้างผนังไม่ตรงกับแบบ

10 ปีผ่านมา ปัญหาของผนัง Precast ลดลงไปเยอะแล้วจริงหรือไม่?

ปัจจุบันต้องยอมรับเลยว่า ปัญหาต่างๆที่เรามักจะเคยเจอในโครงสร้างแบบ Precast ลดลงไปเยอะมาก แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังสลัดภาพจำที่มีต่อผนังชนิดนี้ในสมัยก่อนไปไม่ได้อยู่ดี อาจเพราะยังขาดความเข้าใจถึงปัญหาจริงๆว่า เมื่อก่อนนั้นมันเกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไรกันแน่ แล้วทุกวันนี้ได้มีวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบที่ได้จากการสัมภาษณ์พี่ๆช่างและวิศวกรหน้างานมาเล่าให้ฟังครับ

1. มีการใช้วัสดุอุดรอยรั่วได้ดีขึ้น จบปัญหาตลอดกาลของผนัง Precast

หนึ่งในปัญหาหลักที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดของผนังชนิดนี้ก็คือ ‘ปัญหาการรั่วซึม’ ตามจุดรอยต่อต่างๆของผนัง ซึ่งโดยปกติก็จะมีการใช้ PU Sealant (Polyurethane Sealant) หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า กาวยาแนว PU มาฉีดเพื่ออุดรอยต่อนั้นๆเอาไว้

หรือผู้ประกอบการบางรายก็อาจมีการใช้เส้นโฟม Backer Rod หรือ Backing Rod (ที่ทำมาจาก Polyethylene) อัดเข้าไปในช่องว่างก่อนที่จะมีการฉีดยาแนว PU ทับเข้าไปอีกที ซึ่งก็จะทำให้สามารถอุดรอยรั่วได้ดีมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเรายังพบบ้านบางหลังที่ยังมีอาการรั่วซึมอยู่ ก็อาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย ได้แก่

ใช้วัสดุไม่ถูกสเป็ค :

ปกติแล้ววัสดุประเภทยาแนวจะมีอยู่ 3 ชนิดหลักๆคือ

  1. กาวซิลิโคน : เหมาะกับใช้ได้ทั้งภายนอกและภายใน แต่จะทาสีทับไม่ได้
  2. กาวอะคริลิค : ราคาประหยัด ทาสีทับได้ เหมาะกับอุดงานเล็กๆน้อยๆ แต่ไม่เหมาะกับงานโครงสร้าง
  3. กาวพียู : ทนทาน มีความยืดหยุ่น มีความเหมาะสมกับงานโครงสร้างที่สุด แต่ราคาค่อนข้างสูง

ช่างมักง่าย ขาดความรู้ :

ก่อนที่เราจะฉีดยาแนวเพื่ออุดรอยรั่ว จะต้องมีการทำความสะอาดร่องนั้นๆ ไม่ให้มีเศษฝุ่นหรือความชื้นซะก่อน เพื่อให้กาวยาแนวสามารถยึดเกาะกับเนื้อคอนกรีตได้อย่างเต็มที่

แต่ถ้าช่างไม่ได้ทำความสะอาดให้ดีๆ ต่อให้เราจะใช้วัสดุยาวแนวดีและเหมาะสมแค่ไหน ก็จะยึดเกาะและอยู่ได้ไม่นานครับ จึงเกิดการรั่วซึมได้ง่าย และนำพามาซึ่งปัญหาอื่นๆตามมา ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับฝีมือช่างล้วนๆ ซึ่งถ้าช่างได้รับการเทรนมาดีและมีประสบการณ์มากพอ ก็มักจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องพวกนี้สักเท่าไหร่ครับ

ร่องที่ต้องอุดเล็ก/ใหญ่เกินไป :

ส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องของขั้นตอนการติดตั้ง คือปกติเราจะต้องใช้รถเครนในการยกผนังมาวาง และจะมีคนคอยจับเพื่อติดตั้งอีกที ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนได้พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นช่องเล็กไปจนฉีดยาแนวไม่เข้า หรือช่องใหญ่ไปจนอุดได้ไม่เต็มที่ โดยตามมาตรฐานทั่วไปก็ควรมีช่องสักประมาณ 0.5 – 1 cm. กำลังดีครับ

โดยสมัยก่อนที่การติดตั้งมีความคลาดเคลื่อนสูง อาจเพราะช่างส่วนใหญ่ใช้สายตาหรือพวกตลับเมตรแบบดั้งเดิมในการวัด โดยที่รู้เท่าไม่ถึงการว่าอาจจะส่งผลเสียในอนาคตได้อย่างไร แต่ปัจจุบันนี้มีการใช้พวกเลเซอร์วัดระยะในการคำนวณ จึงทำให้การทำงานมีความละเอียดมากขึ้น ซึ่งก็ช่วยทำให้ช่างทำงานได้ง่าย และลดปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้นั่นเอง

2. สามารถผลิต ติดตั้ง และก่อสร้างได้ตรงแบบมากขึ้น

อย่างที่ทุกคนทราบว่าผนัง Precast จะต้องหล่อสำเร็จมาจากโรงงาน ซึ่งก็รวมถึงการเว้นช่องของงานระบบต่างๆด้วย เพราะเราจะไม่สามารถเจาะ/แก้ไขอะไรหน้างานได้มากนัก แต่ในสมัยที่มีการผลิต Precast ในยุคแรกๆ ถึงแม้ระบบทุกอย่างจะถูกเซ็ตด้วยคอมพิวเตอร์ตั้งแต่การเขียนแบบ Model ไปจนถึงการผลิตเสร็จจากโรงงานอยู่แล้ว

แต่มันจะมีอยู่ขั้นตอนหนึ่งที่มีคนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็คือ การวาง Slip ของท่องานระบบก่อนที่จะเทปูนหล่อลงไป ซึ่งตอนนั้นเค้ายังใช้เป็นการวัดด้วยมือ (ไม้บรรทัด/ตลับเมตรใดๆ) ก็เลยทำให้มีความคลาดเคลื่อนเวลานำมาติดตั้ง และใช้งานจริงในหน้างานอยู่บ้าง ทำให้ช่างต้องมาเจาะ/สกัดกันใหม่บ่อยๆ

ปัจจุบันทางผู้ผลิตหลายๆเจ้า ได้ปรับให้เป็นการใช้เลเซอร์ในการมาร์คตำแหน่ง จึงทำให้มีความแม่นยำสูงมากขึ้น พอเอามาติดตั้งหน้างานก็สามารถใช้ได้เลย ไม่ต้องมาทำอะไรเพิ่มเติม

หมดปัญหาการรั่วซึมหรือ defect อื่นๆหน้างานที่จะเกิดขึ้นไปได้เยอะเลย ดังนั้นบ้านที่สร้างด้วยระบบ Precast ในยุคใหม่ๆ จึงไม่ค่อยมีปัญหาอะไรจุกจิกแบบนี้ให้เห็นกันแล้วครับ

ภาพจากโครงการ CHERENE กรุงเทพกรีฑา – ร่มเกล้า (คลิกที่ภาพ เพื่อไปยังเว็บไซต์โครงการ)

ข้อดีและความน่าสนใจของผนัง Precast คืออะไร?

หากพูดถึงวัสดุในการทำผนังแล้ว ต้องยอมรับเลยว่าผนังคอนกรีตสำเร็จรูป หรือผนัง Precast มีความโดดเด่นและแตกต่างจากวัสดุชนิดอื่นๆค่อนข้างมาก ซึ่งไม่ใช่แค่ในแง่ของผู้ผลิตและเจ้าของโครงการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้อยู่อาศัยอย่างเราด้วย โดยจะมีข้อดีดังนี้

1. มีความแข็งแรงทนทาน

ด้วยความที่เป็นผนังคอนกรีตเสริมเหล็กแบบทั้งชิ้น จึงมีความแข็งแรงมากเป็นพิเศษ โดยบางชนิดก็ยังเป็นผนังรับน้ำหนัก ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของบ้านไปด้วยในตัว ซึ่งก็ต้องแลกมากับข้อจำกัดบางอย่างคือ เราจะต้องมีการปรึกษาวิศวกรผู้ออกแบบก่อนทุบ/ต่อเติมทุกครั้ง เพราะเค้าจะรู้ว่าผนังตรงไหนเป็นผนังรับน้ำหนัก หรือตรงไหนเจาะได้เท่าไหร่ เพื่อที่จะได้ไม่กระทบกับโครงสร้างหลักของบ้านในอนาคต

Tips จากพี่ช่าง : การเจาะเพื่อทำอะไรก็แล้วแต่ ควรเว้นระยะห่างจากขอบผนัง กรอบประตู-หน้าต่าง หรือรอยต่อต่างๆไม่น้อยกว่า 15 cm. เพื่อไม่ให้โดนส่วนที่เป็นเหล็กด้านใน ซึ่งถ้าเป็นงานเล็กน้อยๆแบบนี้ สามารถทำได้เองโดยไม่ต้องปรึกษาวิศวกรได้ครับ

2. สามารถป้องกันเสียงและความร้อนได้ดี

ด้วยความที่ผนังคอนกรีตเสริมเหล็กจะมีความหนาแน่นที่สูงมาก ในขณะที่พวกอิฐมอญแดงหรืออิฐมวลเบาจะมีรูพรุนตามธรรมชาติมากกว่า จึงทำให้ผนัง Precast มีความสามารถในการป้องกันเสียงหรือความร้อนได้ดีกว่า เหมาะมากสำหรับโปรดักส์ทาวน์โฮมและบ้านแฝด ที่มีการใช้ผนังร่วมกันระหว่างยูนิต ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวในการอยู่อาศัยได้เป็นอย่างดีเลยครับ

ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG

จากตารางจะเห็นว่า อัตราการป้องกันเสียงและการทนไฟของผนัง Precast มีค่อนข้างสูงกว่าผนังชนิดอื่นๆ รวมถึงยังมีอัตราการดูดซับน้ำและการคลายความร้อนที่น้อยด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ผนังไม่เกิดร้าวในอนาคต (อันเนื่องมาจากการพองและยุบตัวของวัสดุ จากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของผนัง)

โดยค่า STC หรือค่าการกันเสียงของวัสดุ ยิ่งมีสูงเท่าไหร่ก็จะยิ่งกันเสียงได้ดีมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งระดับ 50 ก็ถือว่าสูงมากเหลือเฟือ แบบพอที่จะทำให้เราไม่ได้ยินเสียงใดๆผ่านผนังมาได้เลยครับ

ยกตัวอย่าง เพื่อนผมอาศัยอยู่ในทาวน์โฮมที่ทำจาก Precast และเค้าเพิ่งจะมีลูกน้อยที่ต้องมีเสียงร้องไห้เสียงดังอยู่บ้าง ก็มีการสอบถามกับข้างบ้านว่าเสียงเด็กรบกวนเกินไปหรือเปล่า แต่ปรากฏว่าเพื่อนบ้านไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย แสดงว่าผนัง Precast นี้ช่วยกันเสียงได้ดีเลยทีเดียวครับ (อาจมีเสียงบ้างเล็กๆน้อยๆ ผ่านทางช่องประตู-หน้าต่างตามปกติเท่านั้น)

และในบางโครงการเราจะเห็นว่า เค้าใช้ผนัง Precast สูงขึ้นไปจนสุดตามทรงหลังคาแบบนี้เลย (ปกติจะสูงแค่ฝ้าเพดานชั้นบนสุดเท่านั้น) ซึ่งเป็นการออกแบบที่ช่วยปิดช่องว่างใต้พื้นที่หลังคา ที่เสียงอาจทะลุผ่านฝ้าเพดานข้ามไปยังหลังของเพื่อนบ้านข้างๆได้ครับ

อย่างเช่นทาวน์โฮมของโครงการ CHEREA VICINITY ราชพฤกษ์-เจษฎาบดินทร์ เค้าจะมีการทำผนังขึ้นไปสูงจากฝ้ากว่า 2 – 3 m. ทำให้มีพื้นที่ใต้หลังคาที่เยอะมาก ซึ่งนอกจากผนังนั้นๆจะช่วยกันเสียงอย่างที่บอกไปแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาตรของอากาศที่กักเก็บความร้อนใต้หลังคาได้ดี ให้สามารถระบายออกไปได้ก่อนที่จะแผ่ความร้อนผ่านฝ้าลงมา จึงมีส่วนช่วยลดความร้อนของบ้านชั้นบนลงได้นั่นเองครับ

ภาพจากโครงการ CHEREA VICINITY ราชพฤกษ์-เจษฎาบดินทร์ (คลิกที่ภาพ เพื่อไปยังเว็บไซต์โครงการ)

3. สามารถต่อเติมพื้นที่ใช้สอยได้

บางโครงการที่ก่อสร้างบ้านด้วยระบบ Precast จะมีการออกแบบฟังก์ชันบางอย่างเผื่อให้เราสามารถต่อเติม เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยของตัวบ้านได้นะครับ จึงทำให้มีความยืดหยุ่นไม่ต่างจากบ้านที่สร้างด้วยการก่ออิฐแบบปกติเลย

เช่น ห้องนอนเล็กของทาวน์โฮมบางแห่งจะสามารถทุบผนังตรงกลางออก เพื่อเชื่อมต่อกันให้กลายเป็นห้องนอนใหญ่อีกห้องหนึ่งได้ เนื่องจากผนังตรงส่วนนั้นจะเป็นผนังก่ออิฐแบบธรรมดาเพียงส่วนเดียวของบ้าน จึงสามารถทุบผนังออกได้และไม่ส่งผลต่อโครงสร้างบ้าน เป็นต้น

ภาพจากโครงการ CHEREA VICINITY ราชพฤกษ์-เจษฎาบดินทร์ (คลิกที่ภาพ เพื่อไปยังเว็บไซต์โครงการ)

ผมขอยกตัวอย่างการต่อเติมหลังบ้านอีกสักหนึ่งเคส จากโครงการ CHEREA VICINITY ราชพฤกษ์-เจษฎาบดินทร์ โดยเค้าจะมีการเตรียมพื้นที่ด้านหลังบ้านเอาไว้เป็นแบบโครงสร้าง Slab on Beam หรือลงเสาเข็มของซักล้างเอาไว้ให้แล้ว

ซึ่งเราก็สามารถก่อผนังและทำหลังคาได้ตามปกติ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าพื้นจะเกิดการทรุดตัวไม่เท่ากัน เพราะผนังและหลังคาจะตั้งอยู่บนโครงสร้างเดียวกับตัวบ้านอยู่แล้วนั่นเองครับ (ส่วนปัญหาที่ผนังต่อเติมอาจมีการแยกจากผนังบ้านหลักอยู่บ้าง ถือเป็นเรื่องปกติปกติของผนังทุกแบบ ที่มีวัสดุต่างชนิดกันมาทำต่อกันทีหลังนะครับ ซึ่งก็สามารถยาแนวเพื่ออุดรอยแยกได้ตามปกติ)

ภาพจากโครงการ CHERENE กรุงเทพกรีฑา-ร่มเกล้า (คลิกที่ภาพ เพื่อไปยังเว็บไซต์โครงการ)

อีกหนึ่งเทคนิคที่ผมเจอก็คือ ‘การฝากคาน’ โดยโครงการ CHERENE กรุงเทพกรีฑา – ร่มเกล้า เค้าจะเตรียมพื้นที่เหมือนเป็นชานพักยื่นออกมาจากตัวบ้าน ซึ่งเราสามารถทำพื้นใหม่เชื่อมต่อกับคานเดิมนี้ที่เตรียมไว้ได้ เพื่อขยายพื้นที่ใช้สอยของบ้านให้กว้างขวาง และได้ฟังก์ชันให้ใช้งานเพิ่มขึ้นอีก 1 จุดฟรีๆ

แน่นอนว่าการใช้เทคนิคนี้ เราก็ไม่ต้องห่วงเรื่องพื้นต่อเติมจะทรุดตัวแยกจากพื้นหลักในอนาคตด้วยครับ เพราะน้ำหนักก็จะถ่ายเทลงไปตามคานบ้านปกติเลย เรียกได้ว่าถ้าโครงการไหนมีการคิดเผื่อไว้ให้แบบนี้ ก็จะทำให้ข้อจำกัดที่เคยมีในบ้านแบบ Precast ลดลงไปได้เยอะ และมีความยืดหยุ่นไม่แพ้บ้านแบบทั่วไปเลยนั่นเอง

4. ไม่มีเสากลางบ้าน สามารถจัดเฟอร์นิเจอร์ได้ง่าย

อีกหนึ่งความพิเศษของบ้านที่สร้างด้วยผนัง Precast คือ จะไม่มีเหลี่ยมมุมเสาตามผนัง และไม่มีเสาโผล่มากลางบ้านให้เห็นเลยครับ ซึ่งอย่างที่บอกไปแล้วว่า Precast เป็นผนังรับน้ำหนักที่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างบ้านไปด้วยในตัว จึงทำให้บ้านที่ก่อสร้างด้วย Precast สามารถมีหน้ากว้างเท่าไหร่ก็ได้แบบไม่ต้องมีเสาเลย

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พื้นที่ใช้สอยภายในตัวบ้านมีความอิสระสูงมาก ซึ่งเราสามารถออกแบบพื้นที่ฟังก์ชัน และเลือกใช้วัสดุได้แบบไม่ต้องมีระยะของเสาเข้ามาเป็นข้อจำกัดอีกต่อไป รวมถึงยังสามารถใช้พื้นที่ใช้สอยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วยครับ

ภาพจากโครงการ CHEREA VICINITY ราชพฤกษ์-เจษฎาบดินทร์ (คลิกที่ภาพ เพื่อไปยังเว็บไซต์โครงการ)

  • ตัวอย่างที่ 1 สมมุติว่ามีพื้นที่กว้าง 1 m. สำหรับบ้านแบบก่ออิฐที่จะต้องมีเสา ระยะห่างระหว่างเสา 2 ฝั่งกว้าง 80 cm. (ขั้นต่ำของเสาที่ต้องโผล่มาจากผนังคือด้านละ 10 cm.) แต่ถ้าเป็นระบบ Precast ที่ไม่ต้องมีเสาเลย เราก็จะมีพื้นที่กว้าง 1 m. เต็มๆให้ใช้งานครับ
  • ตัวอย่างที่ 2 สมมุติว่ามีพื้นที่กว้าง 6 m. สำหรับบ้านที่ก่ออิฐก็อาจต้องมีเสาตรงกลางเพิ่มขึ้นมา (แบ่งเป็นช่วงละ 3 m.) ถ้าเราจะวางตู้ 2 ใบ ก็จะต้องเว้นระยะสำหรับเสาเอาไว้ตรงกลาง หรือไม่ก็ต้อง Built-in ทับไป และยอมเสียพื้นที่ในตู้ไปบ้าง แต่ถ้าเป็นบ้านแบบ Precast จะสามารถทำเป็นตู้แบบเต็มผนังไปได้เลยครับ ยิ่งถ้าตู้ 2 ใบกว้างใบละ 3 m. ก็วางได้เลยแบบไม่ต้องเสียเวลาดัดแปลงขนาดตู้อะไรอีกนั่นเอง

Image 1/6

โดยไอเดียและภาพบรรยากาศในการตกแต่งบ้านตัวอย่างของโครงการที่สร้างด้วยผนัง Precast จะเป็นอย่างไร สามารถคลิกชมได้ใน Gallery นี้ได้เลยครับ

5. ไม่มีปัญหาเรื่องรอยแตกร้าวตามผนัง

อีกหนึ่งปัญหาของบ้านที่ก่อสร้างและอยู่อาศัยไปนานๆแล้วก็คือ ผนังจะเริ่มมีการเสื่อมสภาพและแตกร้าวได้ง่าย ซึ่งเกิดจากปูนที่ฉาบเพื่อปิดผิวของผนัง และมักจะเกิดตามวงกบประตู-หน้าต่างด้วยนั่นเองครับ

แต่สำหรับบ้านที่ก่อสร้างด้วยผนัง Precast จะมีปัญหาเหล่านั้นที่น้อยมากๆ (หรือแทบจะไม่มีเลย) เนื่องจากระบบนี้จะไม่มีทั้งปูนที่ต้องมาฉาบหน้างาน และไม่มีคานทับหลังที่ต้องไว้ติดตั้งประตู-หน้าต่าง เพราะทุกอย่างหล่อสำเร็จมาจากโรงงานเรียบร้อย และมีการเว้นช่องเอาไว้แล้วด้วย

ดังนั้นเราจึงไม่ค่อยพบเห็นผนัง Precast เกิดการแตกร้าวเลย (เว้นแต่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นเรื่องใหญ่จริงๆ หรือหน้างานช่างมีการเจาะ/สกัดเพิ่ม และใช้วัสดุไม่ตรงสเปค) จึงทำให้บ้านที่สร้างด้วยผนัง Precast มีความเรียบร้อยสวยงามในระยะยาว ไม่ต้องมาฉาบและทาสีบ่อยๆนั่นเองครับ

6. สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว ประหยัดเวลาได้ดี

เนื่องจากระบบ Precast เป็นการหล่อสำเร็จมาจากโรงงาน แล้วจึงค่อยยกมาประกอบที่หน้างานทีเดียว ซึ่งเหมาะกับโครงการจัดสรรใหญ่ๆ ที่จะต้องมีการทำแบบบ้านเดิมๆซ้ำๆหลายยูนิต โดยผนังทั้งหมดก็จะมีคุณภาพที่ได้มาตรฐานมาจากโรงงานเท่าๆกันนั่นเอง

แต่ถ้าถามว่าก่อสร้างได้เร็วขนาดไหน? ..เท่าที่ถามช่างมา บ้านที่สร้างด้วย Conventional หรือการก่ออิฐฉาบปูน 1 หลัง จะใช้เวลาประมาณ 6 – 8 เดือน แต่ถ้าเป็นบ้านที่สร้างด้วยผนัง Precast จะใช้เวลาประมาณ 3 – 4 เดือน (แบบจบทั้งงานโครงสร้าง และงานสถาปัตย์) ก็เรียกได้ว่าเร็วขึ้นเป็น 2 เท่า และลดระยะเวลาลงไปได้ครึ่งหนึ่งเลยทีเดียวครับ

แน่นอนว่า ‘เวลา’ ก็ถือเป็นหนึ่งในต้นทุนของ Developer แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการใช้ระบบผนัง Precast จะเป็นการลดต้นทุนได้เสมอไปทุกครั้ง เพราะจริงๆแล้วการใช้ผนัง Precast จะเป็นวัสดุที่มีค่าใช้ที่สูงขึ้นกว่าการก่ออิฐด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะกับ Developer รายย่อยที่ไม่ได้มีโรงงานผลิตเป็นของตัวเอง ก็จะยิ่งต้องมีการลงทุนก้อนใหญ่มากขึ้น รวมถึงยังมีค่าขนส่งของรถบรรทุก และค่าเช่ารถเครนที่ใช้ยกแผ่นผนังหน้างานอีกด้วยครับ

อย่างโครงการทั้ง 2 ของ Peace & Living PLC ที่ผมได้ยกตัวอย่างมาตลอดทั้งบทความนี้ เค้าก็เลือกใช้เป็นการก่อสร้างด้วยระบบ Precast ทั้งๆที่ต้นทุนของเค้าก็อาจสูงมากขึ้นด้วยซ้ำ เป็นเพราะเค้าต้องการเลือกใช้วัสดุที่มีความแข็งแรง และได้มาตรฐานจากโรงงานเท่ากันทุกยูนิต รวมถึงยังคำนึงถึงข้อดีต่างๆที่ผนัง Precast มีมากกว่า อีกทั้งยังสามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว และลูกบ้านอย่างเราก็สามารถเข้าอยู่ได้เร็วทันใจมากขึ้นด้วยนั่นเองครับ

ภาพจากโครงการ CHEREA VICINITY ราชพฤกษ์-เจษฎาบดินทร์ (คลิกที่ภาพ เพื่อไปยังเว็บไซต์โครงการ)

บทสรุปสำหรับผนัง Precast (ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป) :

ก่อนอื่นเลยผมก็คงอยากให้ทุกคนลองเปิดใจ กับระบบก่อสร้างแบบ Precast ที่ทุกวันนี้ผมคิดว่าเทคโนโลยี วัสดุต่างๆ รวมถึงความรู้และประสบการณ์ของช่างที่สะสมมากว่า 10 ปี น่าจะมีความพร้อมมากพอที่จะสร้างบ้านได้แบบไม่ได้มีปัญหาเยอะเหมือนแต่ก่อนแล้วนะครับ

เพราะถ้าลองมาคิดๆดูแล้ว ข้อดีของโครงสร้าง Precast ก็มีค่อนข้างเยอะอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรง ความสามารถในการป้องกันเสียงที่ดี การที่ไม่มีเสากลางบ้านมากวนใจ สามารถจัดเฟอร์นิเจอร์ได้ง่าย และยังไม่มีปัญหารอยแตกร้าวในอนาคตอีกด้วย

มีข้อดีแล้วก็ต้องมีข้อจำกัดอะไรบางอย่างเหมือนกัน โดยเฉพาะในเรื่องการทุบ/เจาะ/ต่อเติม จะทำได้ยากกว่าบ้านแบบปกติค่อนข้างมาก ดังนั้นคนที่ซื้อบ้านที่ก่อสร้างด้วยผนัง Precast ก็จะต้องมีความชอบในแบบฟังก์ชันดั้งเดิม ที่ทางโครงการออกแบบไว้ให้แล้วพอสมควร คือไม่ได้คิดจะปรับเปลี่ยนพื้นที่อะไรมากนัก แต่ถ้าจะทำจริงๆก็จำเป็นต้องปรึกษาช่างหรือวิศวกรโครงการก่อนให้ดีๆอีกทีนะครับ

ภาพจากโครงการ CHEREA VICINITY ราชพฤกษ์-เจษฎาบดินทร์ (คลิกที่ภาพ เพื่อไปยังเว็บไซต์โครงการ)

แต่ถ้าเป็นโครงการที่มีการออกแบบฟังก์ชันเผื่อเอาไว้ สำหรับการต่อเติมพื้นที่ใช้สอยได้เหมือนกับ 2 โครงการจาก Peace & Living PLC ที่ผมได้ยกมาเป็นเคสตัวอย่างในครั้งนี้ ซึ่งก็จะมีการลงเสาเข็มและฝากคานไว้ในส่วนที่จะต้องมีการต่อเติม ก็จะช่วยทำให้ฟังก์ชันบ้านมีความยืดหยุ่น และใช้งานได้ดีไม่ต่างจากโครงสร้างแบบปกติเลยครับ

ซึ่งวันนี้เราก็ต้องขอขอบคุณสถานที่ในการถ่ายภาพประกอบ (โครงการ CHEREA VICINITY ราชพฤกษ์-เจษฎาบดินทร์) และขอบคุณพี่ๆช่างหน้างานที่มาแชร์ประสบการณ์ ให้ความรู้เกี่ยวกับผนัง Precast แก่พวกเราในครั้งนี้ด้วยนะครับ

โดยถ้าใครที่อ่านบทความนี้แล้วมีความสนใจโครงการทั้ง 2 เราก็เคยมีรีวิวฉบับเต็มแบบละเอียดเอาไว้ให้แล้ว สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมกันได้ตามลิ้งค์ด้านล่างได้เลยครับ