..เจ้าหนี้หรือธนาคารที่เค้าให้เรากู้ยืมเงินไปซื้อบ้าน จริงๆแล้วเค้าแค่อยากได้เงินของเค้าคืนพร้อมดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันเอาไว้แค่นั้นเองครับ เค้าไม่ได้อยากยึดทรัพย์สิน หรือยึดบ้านของเราเพื่อไปขายทอดตลาดหรอก เพราะมันเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและเสียเวลามากๆ

แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้เราไม่สามารถผ่อนชำระหนี้กับธนาคารได้เหมือนเดิม และหลายๆคนก็เลือกที่จะเพิกเฉยไม่ทำอะไรเลย จากหนี้บ้านที่ควรจะได้รับการแก้ไขได้ง่ายๆตั้งแต่ต้น กลับปล่อยทิ้งไว้ให้กลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ จนถึงขั้นฟ้องร้อง ขึ้นศาล ยึดทรัพย์สิน และขายทอดตลาด แถมยังเข้าข่ายเป็นหนี้เสีย (NPL) ติด Blacklist ในข้อมูลเครดิตบูโรอีกด้วย

โดยก่อนหน้านี้เราก็เคยมีบทความต่างๆ ที่พูดถึงเกี่ยวกับแนวทางการผ่อนบ้านกับธนาคารกันไปเยอะแล้วนะครับ หากใครที่สนใจเรื่องไหนก็สามารถคลิกไปอ่านต่อกันได้ แต่ในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกเฉพาะเรื่องของการถูกฟ้องร้องบังคับคดี การถูกยึดทรัพย์ และแนวทางปฏิบัติในขั้นตอนต่างๆ ที่ลูกหนี้มีสิทธิที่จะสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งจะเป็นอย่างไรบ้างนั้นเราไปชมกันเลย

ผลเสียของการผิดนัดชำระหนี้

1. เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น :

..เป็นสิ่งแรกที่เราจะต้องเผชิญเมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ และจะทำให้ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม โดยจะมีอยู่ 2 ส่วนหลักๆด้วยกันคือ

  • ค่าปรับ : เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการทวงถามและติดตามการชำระหนี้ โดยแต่ละสถาบันการเงินจะมีอัตราค่าปรับที่แตกต่างกัน และจะถูกทบไปในบิลถัดไป แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นยอดเงินแค่หลักร้อย แต่ถ้าถูกทบไปเรื่อยๆ มันก็อาจกลายเป็นหนี้ก้อนโตได้นั่นเองครับ
  • ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ : เป็นค่าปรับสำหรับการชำระหนี้ก้อนดังกล่าวล่าช้าเกินระยะเวลาที่กำหนด โดยดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดบนยอดเงินต้นของค่างวดที่เราผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น เช่น ค่างวดแต่ละเดือนจำนวน 8,000 บาท ของงวดนั้นๆ แบ่งเป็นดอกเบี้ย 3,000 บาท และเงินต้น 5,000 บาท ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะถูกคิดบนยอดเงินต้น 5,000 บาท โดยคิดตามจำนวนวันตั้งแต่มีการผิดนัดชำระหนี้ จนถึงวันที่มีการชำระหนี้ก้อนนั้น ซึ่งเท่ากับว่าเราจะต้องจ่ายทั้งเงินต้น ดอกเบี้ยปกติ และดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้นหากเรายังไม่ทำการชำระหนี้สักที ดอกเบี้ยก้อนดังกล่าวก็จะถูกคิดไปเรื่อยๆ ทุกวัน จนอาจกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ได้ในที่สุด

2. เสียประวัติและเครดิต

..สถานบันการเงินส่วนใหญ่จะมีการรายงานข้อมูลการชำระหนี้ของลูกหนี้ ไปยังบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (National Credit Bureau) ซึ่งเป็นองค์กรที่รวบรวมและจัดการข้อมูลเครดิตของผู้ใช้บริการสถาบันการเงิน แน่นอนว่าประวัติที่ลูกหนี้จ่ายล่าช้า หรือค้างชำระหนี้ก็จะถูกส่งไปยังบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติทั้งหมดเลยครับ

จึงทำให้ทุกครั้งที่เราจะไปทำธุรกรรมการเงิน เช่น กู้เงินซื้อบ้าน กู้เงินซื้อรถ หรือรีไฟแนนซ์ต่างๆ สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกอยู่ในระบบ ก็จะมีการเช็คข้อมูลตรงนี้จากระบบของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ซึ่งว่าหากมีประวัติการชำระล่าช้าบ่อยๆ ก็จะส่งผลต่อการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินอย่างแน่นอน

โดยหากเรามีประวัติการชำระหนี้ล่าช้าบ่อย ๆ หรือมีการค้างชำระหนี้ เป็นไปได้ว่าสถาบันการเงินจะปฏิเสธการให้สินเชื่อของเรา หรือให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกติ เพื่อลดความเสี่ยงของตัวสถาบันการเงินนั้นๆลง

และถ้าเราผิดนัดชำระหนี้มากกว่า 90 วัน หรือ 3 งวด จะถือว่าเราเป็นผู้มีปัญหาการชำระหนี้ (Non-Performing Loan) ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินของเรายากมากขึ้น และเพื่อให้ประวัติการชำระหนี้ของเรากลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง เราจะต้องไม่ผิดชำระหนี้ใดๆเลย หรือจะต้องรอนานถึง 3 ปี กว่าสถานะบัญชีจะกลับมาเป็นปกตินั่นเองครับ

3. ถูกฟ้องร้องและยึดทรัพย์

..หากมีการค้างชำระหนี้ในระยะเวลาที่ยาวนาน เจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินจะทำการฟ้องร้องคดีแพ่งต่อศาล เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้คืนได้ ซึ่งผลหนักที่สุดที่อาจต้องเจอก็คือ “การถูกตัดสินให้เป็นบุคคลล้มละลาย”

และแม้ว่ากรณีคดีแพ่งแบบนี้จะไม่มีโทษจำคุก แต่ความยุ่งยากก็มีเยอะอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะการฟ้องร้องคดีต่อศาล หากคู่กรณีตกลงกันไม่ได้ก็อาจจะใช้เวลานานเป็นปีๆ กว่าศาลจะมีคำพิพากษา และการไปศาลแต่ละครั้งย่อมมีค่าใช้จ่ายแฝงอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

โดยกว่าจะถึงขั้นนั้นเรายังพอจะมีเวลาพูดคุยไกล่เกลี่ย หรือขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้อยู่ครับ เพราะอย่างที่ผมเกริ่นไปข้างต้นแล้วว่า “..เจ้าหนี้เค้าแค่อยากได้เงินของเค้าคืนพร้อมดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันเอาไว้ เค้าไม่ได้อยากยึดทรัพย์สิน หรือยึดบ้านของเราเพื่อไปขายทอดตลาดหรอก เพราะมันเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและเสียเวลา”

การฟ้องร้องและบังคับคดีทางแพ่ง

..ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า ‘การบังคับคดีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล’ เช่น ถ้าศาลตัดสินแล้วว่านาย ก. ที่เป็นลูกหนี้จะต้องนำเงินมาใช้หนี้ให้กับนาย ข. ในจำนวนเท่านั้นเท่านี้ หรือด้วยวิธีการใดๆตามที่ตกลงเอาไว้ แต่สุดท้ายแล้วนาย ก. ก็ไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ตามคำสั่งศาลได้

แบบนี้จึงจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีที่จะต้องมีการสืบทรัพย์ ยึดบ้านและยึดทรัพย์สินขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้นั่นเองครับ โดยกระบวนการต่างๆจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ๆดังนี้

  1. กระบวนการฟ้องร้อง : เจ้าหนี้จะมายื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้เกิดการพิจารณาคดี โดยศาลก็จะออกหมายเรียกลูกหนี้ให้มารับทราบข้อกล่าวหา และนัดวันเข้ามาพิจารณาคดีเป็นลำดับถัดไป
  2. กระบวนการระหว่างพิจารณาคดี : เป็นการเจรจาพูดคุยกันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ โดยที่มีศาลเป็นผู้ตัดสิน หากไม่สามารถหาข้อสรุปหรือตกลงกันได้ ศาลก็จะมีคำพิพากษาเพื่อตัดสิน และเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี
  3. กระบวนการหลังจากพิพากษาแล้ว : เป็นกระบวนการในชั้นบังคับคดี เพื่อให้คดีการฟ้องร้องมีผลไปตามคำพิพากษาและคำบังคับของศาล (คำพิพากษาคือ คำตัดสินว่าใครผิด ใครถูก หรือใครที่จะต้องเป็นคนใช้หนี้ / คำบังคับของศาลคือ เงื่อนไขในการใช้หนี้ว่าต้องใช้หนี้อย่างไรบ้าง)

นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญอื่นๆที่ควรรู้ดังนี้

  • หมายศาล : เมื่อมีคำสั่งหรือหมายศาลส่งไปยังลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้จะไม่สามารถอ้างได้ว่า ไม่ทราบ/ไม่รู้เรื่องมาก่อนได้นะครับ เพราะในทางคดีแพ่งแล้ว การนิ่งเฉย = ยอมรับ/รับทราบ (ต่างจากคดีอาญาที่การนิ่งเฉย = การปฏิเสธ)
  • ระยะเวลาในการบังคับคดี จะมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา : หมายความว่าภายใน 10 ปีนี้ จะเป็นช่วงเวลาที่ลูกหนี้จะต้องใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้ตามคำสั่งของศาล ในขณะเดียวกันถ้าหลังจากผ่านไป 10 ปีเจ้าหนี้จะไม่สามารถเรียกร้อง หรือยึดทรัพย์สินใดๆจากลูกหนี้ได้อีกครับ
  • การสืบทรัพย์ : เป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ ที่จะต้องไปสืบเองว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินอะไรอยู่ที่ไหน และสามารถยึดอะไรได้บ้าง จากนั้นจึงค่อยมาแจ้งต่อศาล/กรมบังคับคดีให้ทำการออกหมายเพื่อยึด/อายัด (เจ้าหน้าที่บังคับคดีจะมีหน้าที่แค่ดำเนินการยึด/อายัดให้เท่านั้น)
  • ทรัพย์สินของลูกหนี้จะมีทั้งของที่ยึดได้ และของที่ยึดไม่ได้ : เป็นข้อกำหนดที่เพิ่งปรับปรุงใหม่ เพื่อให้ลูกหนี้ยังมีสินทรัพย์ที่ยังสามารถดำรงชีพต่อไปได้
  • กรณีที่มีเหตุขัดข้องทำให้ไม่สามารถยึดทรัพย์ของลูกหนี้ได้ : ในที่นี้ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินผืนนั้นๆปัจจุบันมีน้ำท่วมขังจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ หรือรถยนต์เสื่อมสภาพไม่มีมูลค่าเหมือนเดิม แบบนี้เจ้าหน้าที่บังคับคดีจะมีอำนาจสั่งห้ามจำหน่ายจ่ายโอนเป็นการชั่วคราวแทนครับ
  • กรณีบุคคลอื่นที่เป็นเจ้าของทรัพย์ตัวจริงสามารถร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด (ร้องขัดทรัพย์) : ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่ทรัพย์สินนั้นๆอาจไม่ใช่ของลูกหนี้เองจริงๆ
  • คำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ได้ถือว่าเป็นที่สุด : ลูกหนี้ยังสามารถยื่นอุทธรณ์และฎีกาต่อไปได้ตามปกติ (หากเห็นว่ามีความไม่ถูกต้อง) เพียงแต่ว่าการอุทธรณ์/ฎีกาจะไม่มีผลทำให้การบังคับคดียุติลง เว้นแต่จะมีคำสั่งจากศาลชั้นที่สูงกว่าคำตัดสินของศาลก่อนหน้า ว่าให้ระงับการบังคับคดีลงครับ

เจ้าหนี้ยึดทรัพย์สินอะไรได้บ้าง?

..อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่าจะมีทรัพย์สินที่สามารถยึดได้และไม่ได้ (ตามภาพ) โดยหลักๆแล้วทรัพย์สินที่ไม่สามารถยึดได้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพ เพื่อให้บุคคลนั้นๆยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้ เช่น ของใช้ส่วนตัว และเครื่องมือประกอบอาชีพต่างๆ

แต่สำหรับเงินเดือนจะเป็นการอายัดได้เฉพาะในส่วนที่เกิน 20,000 บาทเท่านั้น เช่น นาย ก. เงินเดือน 22,000 บาท เจ้าหนี้ก็จะมีสิทธิอายัดเงินเดือนได้แค่ 2,000 บาทเท่านั้น (หรือถ้าใครเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท ก็จะไม่ต้องถูกอายัดเลย) ทั้งนี้ก็เป็นกฎหมายเพื่อให้ลูกหนี้ยังสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้นั่นเอง

การ ‘ยึด’ กับ ‘อายัด’ ต่างกันอย่างไร?

1. การยึดทรัพย์

..เมื่อเจ้าหนี้ชนะคดีในศาล และลูกหนี้ไม่มีเงินมาคืนเจ้าหนี้ภายใน 30 วัน ศาลจะแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นตัวกลาง เพื่อออกหมายยึดทรัพย์ของลูกหนี้ เช่น ที่ดิน บ้าน รถยนต์ ฯลฯ เพื่อขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้มาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ หากยังเหลือยอดหนี้เจ้าพนักงานก็จะยึดทรัพย์อย่างอื่นเพิ่มเติมเพื่อขายทอดตลาดและนำเงินมาใช้หนี้ต่อไปจนกว่ายอดหนี้จะหมด (ภายในอายุความ 10 ปี) โดยหลักการของการยึดทรัพย์จะมีดังนี้

  • ห้ามยึดทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ถ้ามูลค่ารวมกันไม่เกิน 50,000 บาทแรก
  • ห้ามยึดทรัพย์สินที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินของลูกหนี้ ถ้ามูลค่ารวมกันไม่เกิน 100,000 บาทแรก
  • ห้ามยึดทรัพย์สินซ้ำกัน ในกรณีที่มีเจ้าหนี้หลายราย เจ้าหนี้รายใดยึดก่อนย่อมได้สิทธิก่อน

2. การอายัดทรัพย์

..มีหลักการและกระบวนการเดียวกับการยึดทรัพย์ แต่อายัดทรัพย์จะเกิดขึ้นในกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึด เจ้าหนี้จะต้องไปสืบว่าลูกหนี้ทำงานอะไร ที่ไหน เงินเดือนและโบนัสเป็นอย่างไร เพื่อทำการอายัดเงินเดือน อายัดโบนัส อายัดค่าล่วงเวลารวมถึงค่าตอบแทนอื่นๆ เป็นต้น โดยหลักการของการอายัดทรัพย์จะมีดังนี้

  • อายัดเพียง 30% ของเงินเดือนหรือค่าจ้าง โดยคิดจากรายได้ก่อนหักภาษีและหักประกันสังคม แต่ถ้าลูกหนี้เงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ห้ามเจ้าหนี้อายัดเงินเดือน หรือเมื่อถูกอายัดแล้วมีเงินเหลือน้อยกว่า 10,000 บาทก็ห้ามอายัดเงินเดือน
  • การอายัดเงินเดือนหรือค่าจ้างเพียง 30% ก็ตัวเลขที่สามารถลดหย่อนได้หากมีความจำเป็น เช่น ต้องเลี้ยงดูครอบครัว หรือมีโรคประจำตัว เป็นต้น
  • อายัดโบนัสได้ 50%
  • อายัดค่าคอมมิชชั่นได้ 30%
  • หากลูกหนี้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำของรัฐห้ามเจ้าหนี้อายัดเงินเดือน
  • กรณีที่มีเจ้าหนี้หลายราย ห้ามอายัดเงินเดือนลูกหนี้เพิ่มหากมีเจ้าหนี้รายอื่นอายัดเงินเดือนลูกหนี้ไปแล้ว

การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด (ร้องขัดทรัพย์)

..จะยื่นได้เฉพาะกรณีที่มีการยึดทรัพย์เท่านั้น หากมีการบังคับคดีโดยวิธีอื่นที่ไม่ใช่วิธียึดทรัพย์ เช่น การอายัดทรัพย์ การบังคับคดีในกรณีขับไล่ กรณีให้รื้อถอน ขนย้ายทรัพย์สิน ซึ่งไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ใช้เงินแก่เจ้าหนี้ และต้องนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด โดยผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอ

  • เจ้าของที่แท้จริงมีสิทธิกล่าวอ้างว่า ทรัพย์ที่ยึดไว้ไม่ใช่ทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. เป็นลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ที่ดิน แต่จริงๆแล้วที่ดินผืนนั้นนาย ข. ซึ่งเป็นญาติที่อยู่ต่างประเทศและเคยฝากซื้อไว้ หากสืบทราบว่ามีหลักฐานโอนเงิน ใบมอบอำนาจ และฝากซื้อกันจริงๆ แบบนี้จะถือว่านาย ข. คือเจ้าของที่แท้จริง ถึงแม้ว่าชื่อในโฉนดจะเป็นชื่อนาย ก. ก็ตาม แบบนี้จะไม่สามารถยึดได้ครับ (การมีชื่ออยู่หลังโฉนด ในทางกฎหมายจะเพียงแค่สันนิษฐานว่าคนคนนั้นอาจเป็นเจ้าของ หรือเพียงแค่ถือกรรมสิทธิ์แทนเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเจ้าของจริงๆ)
  • ผู้เป็นเจ้าของร่วมซึ่งมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ที่ได้เเบ่งการครอบครองเป็นสัดส่วน
  • ผู้เป็นเจ้าของร่วมในสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์แบ่งได้
  • ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน เช่น ครอบครองปรปักษ์ ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด ได้สิทธิตามคำพิพากษา
  • ควรยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการยึด

สามีภรรยาไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหนี้ร่วมกันเสมอไป

..กรณีนี้จะพิจารณาจากมูลหนี้นั้นๆ มีการกู้ยืมเงินเพื่อไปใช้ในเรื่องอะไร เช่น กรณีที่หนี้ก้อนนั้นถูกกู้ยืมมาเพื่อใช้จ่ายภายในบ้าน นำมาอุปการะเลี้ยงดูบุตรหลาน หรือนำไปเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลให้คนใดคนหนึ่งในครอบครัว แบบนี้จะถือว่าเป็นหนี้ร่วมกันเพราะได้ประโยชน์ทั้งคู่

แต่ถ้าอีกกรณีหนึ่ง เช่น สามีกู้เงินเพื่อไปใช้หนี้หรือซื้อทรัพย์สินส่วนตัว ถึงแม้จะมีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายด้วยก็ตาม แต่แบบนี้ภรรยาไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหนี้ก้อนนั้นๆด้วยครับ เพราะไม่ถือว่าเป็นมูลหนี้ร่วมกัน เนื่องจากสามีได้ประโยชน์จากหนี้ก้อนนั้นเพียงแค่คนเดียว

เมื่อบ้านถูกยึดขายทอดตลาดไปแล้ว ควรทำอย่างไร?

  1. ลูกหนี้มีสิทธิที่จะเข้าร่วมการประมูล เพื่อเสนอราคาสู้และซื้อบ้านกลับมาเป็นของตัวเองได้ (กรณีที่ไม่อยากเสียทรัพย์สินนั้นๆไป) เผลอๆอาจได้บ้านมาในราคาที่ถูกกว่าตอนซื้อเองด้วยซ้ำ ทั้งนี้ในเชิงกฎหมายจะไม่สนใจว่าในระหว่างนั้นเราจะได้เงินมาด้วยวิธีไหน และเมื่อการขายทอดตลาดเสร็จสิ้นแล้วก็จะถือว่าการเป็นหนี้ได้สิ้นสุดลงเช่นกัน (สิ้นสุดความรับผิดชอบตามกฎหมาย ต่อให้หลังจากนี้ลูกหนี้จะถูกหวยอีกเป็น 100 ล้านก็ไม่ต้องใช้หนี้อีกแล้ว)
  2. เจ้าของเดิมยังมีสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมได้ ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะนำป้ายมาติดประกาศขายที่หน้าบ้านแล้วก็ตาม จนกว่าจะมีเจ้าของรายใหม่มาซื้อ
  3. เจ้าหน้าที่บังคับคดีมีสิทธิ์ที่จะพิจารณาว่า สมควรให้เจ้าของเดิมยังสามารถอาศัยอยู่ต่อได้หรือไม่ เพราะหากอยู่ต่อแล้วทำให้บ้านทรุดโทรมหรือเสียหาย ก็มีสิทธิ์ที่จะสั่งระงับการใช้งานบ้านนั้นๆได้ครับ
  4. หากขายบ้านออกและมีผู้ซื้อรายใหม่แล้ว แต่เจ้าของเดิมยังไม่ยอมย้ายออกไป ผู้ซื้อรายใหม่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้บังคับคดีดำเนินการขับไล่เจ้าของเก่าออกไปได้

บ้านถูกขายออกไปแล้วจบเรื่องจริงหรอ?

..กรณีที่มีการขายทอดตลาดในครั้งนั้นๆ แล้วได้เงินมาไม่เพียงพอต่อการใช้หนี้ เช่น นาย ก. เป็นหนี้นาย ข. อยู่ 10,000,000 บาท เจ้าหนี้ยึดบ้านขายทอดตลาดได้เงิน 6,000,000 บาท ส่วนต่างที่เหลือ 4,000,000 บาท นาย ก. ที่เป็นลูกหนี้ก็ยังคงต้องหาเงินมาใช้หนี้ให้ครบตามจำนวนที่ยังขาดอยู่ (ในระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่มีคำพิพากษา) แต่กลับกันถ้าสามารถขายทรัพย์สินนั้นๆได้กำไรมากกว่าหนี้สินที่ติดค้างอยู่ ส่วนต่างนั้นทางเจ้าหนี้ก็จะต้องคืนให้กับลูกหนี้ไป และจะถือว่าหมดหนี้กันแล้วนั่นเองครับ


สรุป

..จะเห็นได้ว่า ‘การผิดนัดชำระหนี้’ นอกจากจะทำให้เรามีภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น และเสียประวัติเครดิตทางการเงินแล้ว ยังนำมาซึ่งปัญหาใหญ่อย่างการฟ้องร้อง ขึ้นโรงขึ้นศาล ไปจนถึงการบังคับคดียึดทรัพย์สินไปขายเพื่อนำมาใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้ โดยสาเหตุส่วนใหญ่ก็มาจากการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ที่ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถใช้นี้ได้ตามปกติ ดังนั้นเวลาจะกู้หนี้ยืมสินอะไรก็อาจต้องมีการวางแผน และพิจารณาให้ดีๆก่อนนะครับ เพราะจากหนี้เพียงก้อนเล็กๆในวันนี้ ก็อาจกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่ในวันข้างหน้าได้

แต่ในแง่ของทางกฎหมายก็ไม่ได้ใจร้ายกับลูกหนี้ซะทีเดียว ซึ่งจะมีข้อกำหนดในการช่วยให้ลูกหนี้ยังพอจะมีสิทธิในการเลือกหาทางออกด้วยตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาประนอมหนี้ / สิทธิในการร้องขัดทรัพย์ / สิทธิที่จะเข้าร่วมประมูลสินทรัพย์กลับคืน / สิทธิในการอยู่อาศัยในบ้านเดิมต่อได้แม้กำลังอยู่ในระหว่างการขาย และการยึดหรืออายัดทรัพย์ก็ไม่ได้ถึงกับหมดเนื้อหมดตัว แต่ยังพอจะเหลือเงินและอุปกรณ์ให้ยังสามารถดำรงชีพต่อไปได้นั่นเอง

ซึ่งผมเองก็หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ สำหรับคนที่กำลังจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และกำลังจะถูดยึดทรัพย์สินขายทอดตลาดนะครับ แนะนำว่าให้ใจเย็นๆและลองเลือกหนทางที่น่าจะเหมาะกับตัวเองที่สุด ว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง หรือวิธีการไหนจะส่งผลกระทบน้อยที่สุด แต่ถ้าหากว่ายังไม่มั่นใจผมก็แนะนำให้ลองปรึกษาทนายที่มากประสบการณ์ดู ก็น่าจะช่วยได้เยอะเลยทีเดียวครับ


ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc